15 กรกฎาคม 2555

เติมเต็มความรู้ เรื่อง การให้บริการตรวจสอบการทำซ้ำผลงานวิชาการด้วยโปรแกรม TurnItIn วันที่ 4 กรกฎาคม 2555

กระบวนการ/วิธีการสู่ความสำเร็จ
        งานห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ บอกรับโปรแกรมออนไลน์ TurnItIn (อ่านว่า เทิร์น อิท อิน) สำหรับนำมาใช้ตรวจสอบการคัดลอกทำซ้ำผลงานวิจัย ผลงานขอตำแหน่งวิชาการและวิทยานิพนธ์ (Plagiarism program) และระบบบริหารจัดการการเรียนการสอนทางออนไลน์เพื่อใช้สั่งงาน ส่งรายงานและประเมินผลของอาจารย์ผู้สอนกระบวนวิชาต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา

       ขณะนี้ บัณฑิตวิทยาลัย เห็นควรให้มีกระบวนการตรวจสอบการคัดลอก ทำซ้ำผลงานวิจัยของนักศึกษาก่อนทำเรื่องอนุมัติปริญญา ซึ่งงานบริหารงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์เองก็เล็งเห็นความสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เกิดกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว แต่เนื่องจากมีเพียงคณะแพทยศาสตร์แห่งเดียวที่บอกรับโปรแกรม TurnItIn มาเป็นเครื่องมือช่วยการตรวจสอบดังกล่าว ดังนั้นบุคลากรผู้ปฏิบัติงานบริการของห้องสมุดคณะฯ จำเป็นต้องทำความเข้าใจและรู้จักวิธีการใช้งานโปรแกรมเพื่อบริการให้คำแนะนำ อบรมวิธีการใช้งาน ตลอดจนให้บริการตรวจสอบผลงานให้แก่ผู้มาติดต่อใช้โปรแกรม
หลักเกณฑ์การให้บริการ
1. กลุ่มผู้รับบริการภายในคณะแพทยศาสตร์ ได้แก่ นักศึกษาปริญญาโท-เอก และบุคลากรของคณะฯ สามารถเข้าใช้งานโปรแกรมด้วยตัวเองได้ หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ หน่วยบริการ ชั้น 6 โทร. 5206 หากต้องการให้ห้องสมุดตรวจสอบให้ สามารถส่งไฟล์เอกสารมาที่ e-mail: cboonyan@med.cmu.ac.th
2. นักศึกษาปริญญาโท-เอก และบุคลากรคณะอื่นๆ สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่หน่วยบริการห้องสมุด ชั้น 6 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 053 945206 หรือ e-mail: cboonyan@med.cmu.ac.th
ขั้นตอนการใช้งานโปรแกรม TurnItIn
     ผู้ใช้งานครั้งแรก
- จากเมนูหลักบนหน้าเว็บไซต์ห้องสมุด คลิกที่หัวข้อ Medical Databases
- ภายใต้หัวข้อ Clinical/Evidence-based Medicine คลิกเข้าสู่โปรแกรม
สร้างบัญชีผู้ใช้งานโปรแกรม (Create a New Account)
ผู้ใช้ประเภท อาจารย์ (Instructor) ใช้รหัสสถาบัน (Organization code) เพื่อทำการลงทะเบียน ซึ่งสามารถขอรับได้จากบรรณารักษ์หน่วยบริการ ห้องสมุดชั้น 6 ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์การจ่ายรหัสให้เฉพาะบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์เท่านั้น
- ป้อน account ID: 6372* และ join password: cmuform20**
- กรอกข้อมูลผู้ใช้งาน (user information) ได้แก่ ชื่อ, นามสกุล, email address, รหัสผ่าน (password), เลือกกำหนดคำถาม-คำตอบ (secret question & answer) และตอบรับข้อตกลงการใช้งานโปรแกรม

การสร้าง Class โดย
- คลิกที่  +Add Class
- กำหนดรายละเอียดของกระบวนวิชา โดย
        - เลือกประเภทเป็น Standard class
        - ตั้งชื่อ Class name
        - กำหนดรหัสผ่านการลงทะเบียน (enrollment password)
        - ระบุวันสิ้นสุดของวิชา (Class end date)
        - คลิก submit
- จด Class ID และ Enrollment password ไว้ให้ข้อมูลนักศึกษาใช้ลงทะเบียนส่งรายงาน

การกำหนดค่าการสั่งงานในฟังก์ชั่น Assignment โดย
- คลิกเข้าสู่ Class ที่ต้องการ
- สั่งงานในกระบวนวิชา (Assignment) คลิกที่ Add assignment
- กำหนดชื่องาน เช่น Theses
- กำหนดคะแนนรายงาน (Point Value)
- กำหนดวันเริ่มต้น (Start date), กำหนดส่งงาน (Due date)
- กำหนดตั้งค่าตัวเลือก (Optional Setting)
         - Allow submissions after the due date? เลือก No
         - Originality Report: Generate Originality Reports for submissions? เลือก Yes
         - Generate Originality Reports for student submissions เลือก immediately first report is final
         - Exclude bibliographic materials from Similarity Index for all papers in this assignment? เลือก No
         - Exclude quoted materials from Similarity Index for all papers in this assignment? เลือก No
         - Exclude small matches? เลือก No
         - Allow students to see Originality Reports? เลือก No
- Submit paper to... เลือก no repository เพื่อไม่ให้ข้อมูลเอกสารถูกส่งไปเก็บไว้ในระบบ
- Attached a rubric to this assignment เลือก no rubric
- คลิก submit

การส่งไฟล์ข้อมูลรายงาน/เอกสารผลงาน เพื่อการตรวจสอบการทำซ้ำ คัดลอกงาน
- เข้าที่ Class name ที่ต้องการ
- ในฟังก์ชั่น Assignments ภายใต้ Assignment title ที่อาจารย์กำหนด ที่เมนู More actions เลือก Submit paper
- Choose a paper item submission method: เลือกวิธีส่งไฟล์เอกสาร/รายงาน ได้แก่ Single file upload | Multiple file upload | Cut & paste upload | Zip file upload
- Author ให้เป็นตัวเลือกตามที่ระบบตั้งค่าไว้คือ Non-enrollment student
- กรอกชื่อ นามสกุล ชื่อเรื่องงานที่ส่ง (Submission title)
- Browse for the file to upload ทำการเลือกค้นหาไฟล์ที่จะทำการอัพโหลดเข้าสู่โปรแกรม
- คลิกปุ่ม Upload
ระบบมีข้อกำหนดเบื้องต้นของไฟล์ข้อมูลที่จะอัพโหลด ดังนี้ ขนาดของไฟล์ไม่เกิน 20 MB ความยาวไม่เกิน 400 หน้า และสกุลไฟล์ที่รองรับคือ MS Word, WordPerfect, PostScript, PDF, HTML, RTF และ plain text
- รอจนหน้าจอขึ้นแจ้งผลการส่งข้อมูลเรียบร้อย คลิกปุ่ม Submit
- คลิก Go to Inbox เพื่อดูรายงานผลจากตรวจสอบ รอจนโปรแกรมแจ้งเปอร์เซ็นการตรวจซ้ำ (Similarity)

 การแสดงผลรายงานข้อมูล มีให้เลือกดู 3 แบบ คือ
แบบ Document Viewer

แบบ Text-only Report

แบบ Quickview (classic) report

ค่าเปอร์เซ็นการซ้ำข้อมูลจะระบุแยกตามแหล่งที่พบข้อมูลซ้ำ 3 แหล่งคือ Internet/Web, Publication, Student papers ที่มีข้อมูลอยู่ในโปรแกรม

- กำหนดตั้งค่าเปอร์เซ็นการนับคำ (Word count) ที่ตรงกัน แล้วคลิกปุ่ม Submit

- การบันทึกหรือดาวน์โหลดไฟล์รายงานผลการตรวจสอบ คลิกสัญลักษณ์ download

* ควรนำข้อมูลผลการตรวจสอบส่งให้เจ้าของรายงาน/ผลงานไปเช็คซ้ำด้วยตัวเองอีกครั้ง เพื่อปรับให้ตรงความเป็นจริง โดยสามาถแก้ไขตัดออกข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริงได้จาก ฟังก์ชั่น matched overview

เล่าสู่กันฟัง เรื่อง การศึกษาดูงานห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศในประเทศ ประจำปี 2555 วันที่ 12 มิถุนายน 2555

กระบวนการ/วิธีการสู่ความสำเร็จ
1.  ชุมชนแนวปฏิบัติคนใกล้หมอ งานห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งบุคลากรจำนวน 3 คน ประกอบด้วย
        1. นางเพียงขอบฟ้า ปัญญาเพ็ชร บรรณารักษ์
        2. นางสาวพิมพรรณ ไชยวุฒิ เจ้าหน้าที่สำนักงาน
        3. นายครรชิต พรมเสพสัก พนักงานบริการฝีมือ (ด้านสำนักงาน)
เข้าร่วมกิจกรรมโครงการศึกษาดูงานห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศในประเทศ ประจำปี 2555 ซึ่งสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2555 โดยห้องสมุดที่เดินทางไปศึกษาดูงานมี 2 แห่งคือ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จังหวัดปทุมธานี และห้องสมุดประชาชนจังหวัดระยอง

2.  สมาชิกชุมชนฯ นำประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน เก็บเกี่ยวจุดเด่น ประเด็นประทับใจของห้องสมุดแต่ละแห่ง มาบอกเล่าต่อให้กับเพื่อนสมาชิกชุมชนฯ ดังนี้
        สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
1. การปรับแต่งทางกายภาพของห้องสมุด ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี โดยไม่หยุดการให้บริการ
2. บริการจัดส่งเอกสาร (Document Delivery) ถึงอาจารย์ที่ภาควิชา โดยใช้เจ้าหน้าที่ปั่นจักรยานรับ/ส่ง
3. บุคลากรห้องสมุดทุกคนรักการแบ่งปันความรู้ เป็นทั้งผู้เรียนรู้และผู้ถ่ายทอดความรู้
4. ด้านภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมที่จัดตกแต่งให้ดูทันสมัย มีสีสัน น่าดึงดูดใจให้เข้าใช้บริการ
        ห้องสมุดประชาชนจังหวัดระยอง
1. ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรักการอ่าน
2. ห้องสมุดสำหรับเด็ก (Thai Kids) ต้นแบบของจังหวัดระยอง ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.
3. กิจกรรมบริการต่างๆ ของห้องสมุด เน้นการหารายได้และการแสวงหาแนวร่วม/พันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนแหล่งทุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาและดำเนินงานด้านต่างๆ ให้กับห้องสมุด
4. ลักษณะเด่นของบุคลากร มีความกระตือรือร้น เอาใจใส่ในงาน มีแนวคิดทางการตลาด การใช้สถิติการให้บริการเป็นข้อมูลสนับสนุนเพื่อใช้ของบประมาณดำเนินงาน
5. บริการเด่น คือ บริการห้องสมุดมือถือ เป็นบริการกล่องใส่หนังสือให้ผู้ใช้ห้องสมุดสะดวกในการขนหนังสือที่ยืมจำนวนหลายๆ เล่มออกนอกห้องสมุด คิดค่าบริการ 50 บาท

สิ่งที่เพื่อนสมาชิกชุมชนฯ ได้รับจากการร่วมกิจกรรมเล่าสู่กันฟังและเสนอประเด็นหัวข้อที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์กับการพัฒนางานของชุมชนฯ ดังนี้
1. แนวคิดในการพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการและนำเสนอบริการทรัพยากรสารนิเทศในรูปแบบต่างๆ
2. แนวคิดการการบริหารจัดการด้านการเงิน งบประมาณ และแสวงหารายได้เพื่อการพัฒนาห้องสมุด
3. แนวคิดการพัฒนาส่งเสริมการทำงานของบุคลากร จากแรงบันดาลใจที่เป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องความกระตือรือร้น การใส่ใจในงานของบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดระยอง
4. แนวคิดด้านบริการที่น่าสนใจของสำนักบรรณสารการพัฒนา NIDA นำมาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับปริบทของคณะแพทยศาสตร์ได้ คือ บริการนำส่งเอกสารให้อาจารย์ที่ภาควิชา เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ได้รับหนังสือ/เอกสารทันเวลาตามความต้องการ
5. การออกแบบและการจัดการด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม ให้มีสีสัน ทันสมัย มีบรรยากาศที่ดึงดูดผู้เข้าใช้ห้องสมุด
6. แนวคิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับกับการทำงาน และการบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

เติมเต็มความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ผลดำเนินงานประจำปีเพื่อทำแผนปฏิบัติงานสู่ความเป็นเลิศ (Action Plan for Faculty of Excellence) วันที่ 24 มีนาคม 2555

        ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมสัมมนาบุคลากรต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยคณะแพทยศาสตร์สนับสนุนค่าใช้จ่าย และในปีงบประมาณ 2555 คณะแพทยศาสตร์ ขอความร่วมมือให้บรรจุหัวข้อเรื่อง “การติดตามผลการดำเนินงานประจำปี เพื่อการจัดทำแผนปฏิบัติงานสู่ความเป็นเลิศ (Action Plan for Faculty of Excellence)” เพื่อใช้สัมมนา/อบรมพัฒนาบุคลากรประจำปี (OD) ของหน่วยงาน ตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามนโยบายของคณะฯ และการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น ห้องสมุดคณะฯ จึงกำหนดจัดสัมมนาบุคลากรห้องสมุด ประจำปี 2555 ตามหัวข้อดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2555 ณ รุ่งอรุณรีสอร์ท อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

        แนวทางดำเนินงานของชุมชนฯ
1. ประชุมคณะทำงานห้องสมุด ประธานชุมชนฯ มอบหมายให้หัวหน้าหน่วย/หมวดงานคิดหัวข้อการดำเนินงานของหน่วยที่น่าสนใจเพื่อกำหนดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan)
2. กำหนดหัวข้อและจัดทำร่างแผนปฏิบัติงาน จำนวน 4 แผน คือ
    2.1 การประหยัดพลังงานในห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ โดย หน่วยบริหารและธุรการ
    2.2 การเพิ่มสารบัญหนังสือภาษาอังกฤษที่จัดซื้อโดยคณะแพทยศาสตร์ให้สามารถสืบค้นได้จาก CMUL OPAC โดย หน่วยเทคนิค หมวดงานวิเคราะห์หมวดหมู่ทรัพยากรสารนิเทศ
    2.3 การจัดทำคำของบประมาณวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อจัดซื้อวารสาร ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดย หน่วยเทคนิค หมวดงานจัดซื้อจัดหาทรัพยากรสารนิเทศ
    2.4 การปรับปรุงข้อมูลวารสารในฐานข้อมูล PubMed (LinkOut) ของห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย หน่วยบริการ
3. ประชุมหารือร่วมกันในกลุ่มเพื่อนร่วมงานภายในหน่วยฯ พิจารณาปรับแก้ไขร่างแผนปฏิบัติงาน
4. สรุปประเด็นหัวข้อเพื่อจัดทำไฟล์นำเสนอ (PowerPoint) โดยผู้รับผิดชอบของแต่ละหน่วยฯ
5. นำเสนอแผนปฏิบัติงาน 4 แผน โดยคุณกิจของชุมชนฯ 5 คน มีการเติมเต็มความรู้ พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์การทำงานตาม Action Plan และเปิดรับข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ตอบคำถาม ทำความเข้าใจในข้อสงสัยของสมาชิก
6. นำแผนปฏิบัติงานที่มีค่าใช้จ่าย มาจัดทำแผนดำเนินงาน/โครงการส่งขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณตามแบบคำขอเสนอแผนดำเนินงาน/โครงการของบประมาณประจำปี ของงานนโยบายและแผน ได้แก่
- โครงการการประหยัดพลังงานในห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์
- โครงการการขอตั้งงบวงเงินรวมเพื่อใช้เป็นค่าบอกรับวารสาร ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปีงบประมาณ 2556

ตัวอย่าง การจัดทำแผนดำเนินงาน/โครงการที่ประกอบคำขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณของคณะแพทยศาสตร์

สิ่งที่สมาชิกชุมชนฯ ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสรุปมีดังนี้
- ได้ร่วมวิพากษ์ Action plan ของห้องสมุด
- ทราบรายละเอียดของแผนปฏิบัติงาน/โครงการใหม่และที่กำลังดำเนินงานเพื่อพัฒนาห้องสมุดและมีประโยชน์ในงาน
- ได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนที่มีในการทำงานและได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์จากเพื่อนร่วมงาน
- ได้รับสาระความรู้ เข้าใจระบบงานร่วมกันเพิ่มยิ่งขึ้น และช่วยให้เกิดการเตรียมพร้อมในการทำงานในอนาคต

ผลงานจากแผนปฏิบัติงานที่ได้ดำเนินการแล้ว
โครงการการประหยัดพลังงานในห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์

โครงการการปรับปรุงข้อมูลวารสารในฐานข้อมูล PubMed (LinkOut)

โครงการเพิ่มสารบัญหนังสือภาษาอังกฤษที่จัดซื้อโดยคณะแพทยศาสตร์ให้สืบค้นจาก CMUL OPAC